วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ประวัติขนมไทย

ประวัติของขนมไทย

      สมัยสุโขทัย ขนมไทยมีที่มาคู่กับชนชาติไทย จากประวัติศาสตร์ที่ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศคือ
จีนและอินเดียในสมัยสุโขทัย มีส่วนช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ด้านอาหาร การกินร่วมไปด้วย
       สมัยอยุธยา เริ่มมีการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับต่างประเทศทั้งชาติตะวันออกและตะวันตก ไทยเรายิ่งรับเอา
วัฒนธรรมด้านอาหารของชาติต่างๆ มาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ เครื่องมือเครื่องใช้ วัตถุดิบที่
หาได้ ตลอดจนนิสัยการบริโภคของคนไทยเอง จนบางทีคนรุ่นหลังแทบจะแยกไม่ออกเลยว่า อะไรคือขนมไทย
แท้ๆ อะไรที่เรายืมเค้ามา เช่น ทองหยิบ ทองหยอดและฝอยทอง หลายท่านอาจคิดว่าเป็นของไทยแท้ๆ
แต่ความจริงแล้วมีต้นกำเนิดจากประเทศโปรตุเกส โดย มารี กีมาร์หรือ ท้าวทองกีบม้า
      “มารี กีมาร์หรือ ท้าวทองกีบม้าเกิดเมื่อ พ.ศ. 2201 หรือ พ.ศ. 2202 แต่บางแห่งก็ว่า พ.ศ. 2209
 โดยยึดหลักจากการแต่งงานของเธอที่มีขึ้นในปี พ.ศ. 2225 และขณะนั้น มารี กีมาร์ มีอายุเพียง 16 ปี บิดาชื่อ
 “ฟานิก (Phanick)” เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นผสมแขกเบงกอล ผู้เคร่งศาสนา ส่วนมารดาชื่อ อุรสุลา ยามาดา
(Ursula Yamada)” ซึ่งมีเชื่อสายญี่ปุ่นผสมโปรตุเกส ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในอยุธยา ภายหลังจากพวกซามูไร
ชุดแรกจะเดินทางเข้ามาเป็นทหารอาสา ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไม่นานนัก ชีวิตช่วงหนึ่ง
ของ ท้าวทองกีบม้าได้เข้าไปรับราชการในพระราชวังตำแหน่ง หัวหน้าห้องเครื่องต้นดูแลเครื่องเงินเครื่อง
ทองของหลวง เป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลอง
           พระองค์ และเก็บผลไม้ของเสวย มีพนักงานอยู่ใต้บังคับบัญชาเป็นหญิงล้วน จำนวน 2,000 คน
ซึ่งเธอก็ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ชื่นชม ยกย่อง มีเงินคืนทอง พระคลังปีละมากๆ ระหว่างที่รับราชการ
นี่เอง มารี กีมาร์ ได้สอนการทำขนมหวานจำพวก ทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง ทองพลุ ทองโปร่ง ขนมผิงและ
อื่นๆ ให้แก่ผู้ทำงานอยู่กับเธอและสาวๆ เหล่านั้น ได้นำมาถ่ายทอดต่อมายังแต่ละครอบครัวกระจายไปในหมู่คน
ไทยมาจนปัจจุบันนี้
         ถึงแม้ว่า มารี กีมาร์หรือ ท้าวทองกีบม้าจะมีชาติกำเนิดเป็นชาวต่างชาติ แต่เธอก็เกิด เติบโต
 มีชีวิตอยูในเมืองไทยจวบจนหมดสิ้นอายุขัย นอกจากนั้น ยังได้ทิ้งสิ่งที่เธอค้นคิด ให้เป็นมรดกตกทอดมาสู่คนรุ่น
หลัง ได้กล่าวขวัญถึงด้วยความภาคภูมิ ท้าวทองกีบม้า เจ้าตำรับอาหารไทย
        ขนมจัดเป็นอาหารที่คู่สำรับกับข้าวไทยมาตั้งแต่ครั้งโบราณ โดยใช้คำว่าสำรับกับข้าวคาว-หวาน โดยทั่วไป
ประชาชนจะทำขนมเฉพาะในงานเลี้ยง นับตั้งแต่การทำบุญเลี้ยงพระ งานมงคลและงานพิธีการ อาหารหวานที่จัด
เป็นสำรับจะต้องประกอบด้วย ของหวานอย่างน้อย 5 สิ่ง ซึ่งต้องเลือกให้มีรสชาติ สีสัน ชนิด ตลอดจนลักษณะที่
กลมกลืนกัน แต่ละสำรับจะต้องมีผลไม้ 10 ที่ และขนมเป็นน้ำ 1 ที่เสมอ ประเทศไทยครั้งยังเป็นสยามประเทศได้
ติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ เช่น จีน อินเดีย มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยโดยส่งเสริมการขายสินค้าซึ่งกันและกัน ตลอด
จนแลกเปลี่ยน
        วัฒนธรรมด้านอาหารการกินร่วมไปด้วย ต่อมาในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ได้มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับ
ประเทศต่าง ๆ อย่างกว้างขวางไทยได้รับเอาวัฒนธรรมด้านอาหารของชาติต่าง ๆ มาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพ
ท้องถิ่น วัตถุดิบที่หาได้ เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนการบริโภคนิสัยแบบไทย ๆ จนทำให้คนรุ่นหลัง ๆ แยกไม่ออก
ว่าอะไรคือขนมที่เป็นไทยแท้ ๆ และอะไรดัดแปลงมาจากวัฒนธรรมของชาติอื่น เช่น ขนมที่ใช้ไข่และขนมที่ต้องเข้า
เตาอบ ซึ่งเข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากคุณท้าวทองกีบม้าภรรยาเชื้อชาติญี่ปุ่น
สัญชาติโปรตุเกสของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ผู้เป็นกงศุลประจำประเทศไทยในสมัยนั้น ไทยมิใช่เพียงรับทองหยิบ
 ทองหยอด และฝอยทองมาเท่านั้น หากยังให้ความสำคัญกับขนมเหล่านี้โดยใช้เป็นขนมมงคลอีกด้วย ส่วนใหญ่
ตำรับขนมที่ใส่มักเป็น ของเทศเช่น ทองหยิบ ฝอยทอง ทองหยอดจากโปรตุเกส มัสกอดจากสกอตต์
          ขนมไทย เป็นเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประจำชาติไทยอย่างหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดี เพราะเป็นสิ่งที่แสดงให้
เห็นถึงความละเอียดอ่อนประณีตในการทำ ตั้งแต่วัตถุดิบ วิธีการทำ ที่กลมกลืน พิถีพิถัน ในเรื่องรสชาติ สีสัน
ความสวยงาม กลิ่นหอม รูปลักษณะชวนรับประทาน ตลอดจนกรรมวิธีการรับประทาน ขนมแต่ละชนิด ซึ่งยังแตกต่าง
กันไปตามลักษณะของขนมชนิดนั้น ๆ ขนมไทยที่นิยมทำกันทุก ๆ ภาคของประเทศไทย ในพิธีการต่าง ๆ เนื่องใน
การทำบุญเลี้ยงพระ ก็คือขนมจากไข่ และมักถือเคล็ดจากชื่อและลักษณะของขนมนั้น ๆ งานสิริมงคล ต่าง ๆ เช่น
งานมงคลสมรส ทำบุญวันเกิด หรือทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ส่วนใหญ่ก็จะมีการเลี้ยงพระกับแขกที่มาในงาน เพื่อเป็น
ศิริมงคลของงานขนมก็จะมีฝอยทอง เพื่อหวังให้อยู่ด้วยกัน ยืดยาวมีอายุยืน ขนมชั้น ก็ให้ได้เลื่อนขั้นเงินเดือน
 ขนมถ้วยฟูก็ขอให้เฟื่องฟู ขนมทองเอกก็ขอให้ได้เป็นเอก เป็นต้น

วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

โทษของการกินน้ำตาลมากเกินไป หรือกินของหวานมากเกินไป

ของหวานกับคนยุคนี้ ดูเหมือนว่าแทบจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะเป็นรสชาติที่สามารถตอบสนอง ต่อความต้องการของคนได้มากที่สุดนั่นเอง
จึงทำให้อาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มแทบทุกประเภท ก็ล้วนแล้วแต่มีส่วนผสมของน้ำตาล อยู่ด้วยกันแทบทั้งนั้น
แต่การรับประทานน้ำตาล หรือขนมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลมากเกินไปนั้น สามารถส่งผลเสียกับร่างกายได้เป็นอย่างมาก
และก็เป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆ ตามมาได้ เช่น
โรคเบาหวาน
ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตอันดับต้นๆ ของคนไทย ที่ป่วยเป็นโรคนี้กันมาก
และดูเหมือนว่าอายุของผู้ป่วยเบาหวานในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่ว่าจะเกิดแต่กับเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น
เด็กๆ หรือหนุ่มๆ สาวๆ ก็เริ่มมีอาการป่วยด้วยโรคเบาหวานมากขึ้นเช่นกัน
 มีผลต่อการทำงานของอวัยวะ
อย่างตับ ไต และหัวใจ เพราะน้ำตาลเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว
หากไม่ได้รับการเผาผลาญออก ก็จะสะสมจนกระทั่งกลายเป็นไขมัน
ซึ่งจะไปทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น จนส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกายนั่นเอง

โรคอ้วน

ปัจจุบันไม่เพียงแต่เฉพาะคนไทย แต่เป็นคนจำนวนมากทั่วโลก ที่ต้องประสบปัญหาโรคอ้วน
ซึ่งก็มีสาเหตุหลักๆ มาจากการชอบรับประทานของหวานเป็นประจำ และไม่ค่อยออกกำลังกายนั่นเอง

ฟันผุ

นี่คือสิ่งที่ทุกคนคงได้เรียนกันมาตั้งแต่ยังเด็ก การรับประทานขนมหวานเป็นประจำ
และทำความสะอาดช่องปากได้ไม่ดีพอ ก็จะเพิ่มโอกาสทำให้เกิดฟันผุได้ง่าย

นอกจากนี้ น้ำตาลยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ได้อีกมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นไมเกรน วัณโรค มะเร็งบางชนิด และยังเพิ่มโอกาสเสี่ยง
ต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
รวมไปถึง การรับประทานน้ำตาลมากเกินไป ยังส่งผลต่อสภาวะทางอารมณ์
ทำให้หงุดหงิดและฉุนเฉียวง่ายได้อีกต่างหาก

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีโทษอยู่มากมาย

แต่น้ำตาลก็ยังถือว่ามีความจำเป็นต่อร่างกายอยู่เช่นกัน
เพราะฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ ต้องรู้จักจำกัดปริมาณของน้ำตาลที่ได้รับต่อวัน
ให้เหมาะสมตามสภาพร่างกายของแต่ละคน นั่นรวมถึงข้าวด้วย
เพราะในที่สุด เมื่อรับประทานข้าวเข้าสู่ร่างกายแล้ว ก็จะกลายเป็นน้ำตาลนั่นเองค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

คัสตาร์ดพุดดิ้ง

      


 คัสตาร์ดพุดดิ้ง 

หลังจากกินพุดดิ้งมะพร้าวอ่อนมาพอหอมปากหอมคอแล้ว มาต่อกันที่คัสตาร์ดพุดดิ้งสุดคลาสิก หลายคนอาจเจอคัสตาร์ดพุดดิ้งมีกลิ่นคาว แต่สูตรนี้ไม่คาวนะคะ แถมยังมีความหอมของคาราเมลอีกด้วย ลองดูแล้วจะติดใจ
ส่วนผสม ซอสคาราเมล

        • น้ำตาลทราย 4 ช้อนโต๊ะ
        • น้ำเปล่า 2 ช้อนโต๊ะ (เพื่อช่วยให้น้ำตาลไม่ไหม้เร็ว หรือน้ำตาลเป็นก้อน และช่วยให้ไม่ข้นเกินไป)

          หมายเหตุ : ถ้าอยากให้มีรสเค็มให้ใส่เกลือได้ แต่ใส่แค่ปลายช้อนชาเท่านั้น
ส่วนผสม คัสตาร์ดพุดดิ้ง

        • นมจืด 1 กล่อง (ประมาณ 250 มิลลิลิตร)
        • ไข่ไก่ 2 ฟอง (ใช้เบอร์ 3 จะได้กลิ่นไม่คาวมาก)
        • น้ำตาลทรายป่น 2 ช้อนโต๊ะ
        • นมข้นหวาน 1 ช้อนโต๊ะ (เพื่อเพิ่มความมันและหอม)
        • ผงเจลาติน 1 1/2 (หรือ 2 ช้อนชา เนื้อจะแน่น ๆ นุ่ม ๆ)
        • กลิ่นวานิลลา 1 ช้อนชา (ใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)
 อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม

        • หม้อ 
        • กระชอนกรอง 
        • ถ้วยตวง 
        • ช้อนตวง 
        • ถ้วยใส่คัสตาร์ดคาราเมล (ควรใช้พิมพ์โลหะ หรืออุปกรณ์ที่ทนความร้อน เพราะคาราเมลมีความร้อนเกิน 100 องศาเซลเซียส)

วิธีทำคาราเมล
 1. ใส่น้ำตาลทรายกับน้ำเปล่าลงในหม้อ ใช้ไฟปานกลาง (ควรคนน้ำตาลทรายกับน้ำเปล่าก่อน พอเดือดจะได้ไม่จับกันเป็นก้อน) รอให้ตัวคาราเมลเดือดกลายเป็นสีน้ำตาลทอง (ไม่เอาน้ำตาลเข้ม เพราะมันจะขมมาก และระวังส่วนผสมกระเด็น) 
        2. เทคาราเมลลงใส่พิมพ์ ประมาณ 1/4 ของพิมพ์ พักไว้ 

วิธีทำคัสตาร์ด

        1. ใส่นมจืด น้ำตาลทราย และนมข้นหวานลงไปในหม้อ ใช้ไฟปานกลาง 
        2. ตอกไข่ใส่ในภาชนะแล้วตีให้เข้ากัน 
        3. แบ่งส่วนผสมนมจากหม้อประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ ใส่ลงในผงเจลาติน คนให้เข้ากัน พักไว้ 
        4. เมื่อต้มส่วนผสมนมจนบริเวณขอบ ๆ เริ่มเดือดแล้ว แบ่งเทใส่ลงในส่วนผสมไข่แล้วคนให้เข้ากัน จากนั้นค่อย ๆ เทกลับลงไปในส่วนผสมนมในหม้ออีกครั้ง
        5. ใส่เจลาตินที่ผสมนมไว้ลงไป เปิดไฟเบา ๆ คนตลอดเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้ไข่เป็นลิ่ม ๆ ต้มประมาณ 5 นาที หรือจนกว่าส่วนผสมข้นขึ้นแล้วยกขึ้นจากเตา
        6. ใช้มือ (ข้างที่ไม่ถนัด) ถือกระชอนกรองวางไว้เหนือพิมพ์ที่ใส่คาราเมลเล็กน้อย เทคัสตาร์ดในหม้อลงเบา ๆ (กระชอนจะกรองเอาเศษลิ่ม ๆ ออก แล้วช่วยให้เนื้อคัสตาร์ดเนียน ไม่มีฟองอากาศ) 
         7. เมื่อเทส่วนผสมคัสตาร์ดใส่พิมพ์หมดแล้ว พักไว้ให้เย็นลงแล้วนำไปแช่ตู้เย็น ประมาณ 1/2 ชั่วโมง เวลาเสิร์ฟเพียงแค่คว่ำคัสตาร์ดลงบนจาน แล้วจัดการตักกินได้เลยค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2560

โมจิหยดน้ำ

เคยสงสัยมานานว่าโมจิหยดน้ำ (Mizu Shingen Mochi) ทำยังไง 



จะทำขายเฉพาะหน้าร้อน ความพิเศษของมันที่เห็นปุ๊บก็ต้องร้องว้าววววคือ..มีรูปร่างใสแจ๋วราวกับหยาดน้ำค้างบริสุทธิ์ สวยงาม ดูบอบบาง แบบว่าคิดได้ยังไงอ่ะ!! และถ้าจะบอกว่าเราสามารถทำทานเองที่บ้านก็ได้ ไม่ต้องบินไปต่อติวยาวถึงญี่ปุ่น มาจัดให้แล้วจ้า จะบอกว่ามันง่าย และส่วนผสมน้อยมากๆ ดูตามนี้เลยค่ะ

ส่วนผสม
1.) ผงวุ้นโมจิหยดน้ำ (WATER CAKE) ซอง 5 กรัม
2.) น้ำตาลทรายป่น 12 กรัม
3.) น้ำเปล่า 200-250 มล. (ปรับความนุ่มตามชอบ)
4.) น้ำเชื่อมจากน้ำตาลทรายแดง (KOKUMITSU)
5.) ผงแป้งถั่วเหลือง (KINAKO)
อุปกรณ์
ง่ายๆ เพียงมี พิมพ์น้ำแข็งลูกบอล และ กรวยน้อยๆก็ได้แล้ว
เมื่ออุปกรณ์ครบแล้ว ก็มาลงมือทำกันเลยค่ะ
วิธีทำ

1. ผงวุ้นญี่ปุ่น WATER CAKE  ซอง 5 กรัม ผสมกับน้ำตาล 12 กรัม เข้าด้วยกัน

2. เติมน้ำเปล่า 200-250 CC.  (ปรับความนุ่มตามชอบ) เติมน้ำทีละนิด เพราะว่าวุ้นละลายยาก คนให้ผงวุ้นละลายแล้วค่อยเติมน้ำอีกนิด คนไปเรื่อยๆและเติมน้ำจนละลายใสเหมือนน้ำเปล่า
3.1 แบบใช้เตา นำไปตั้งไฟให้เดือด ทำให้วุ้นละลายจนหมด ยกลงจากเตา
3.2 หรือ ใช้ไมโครเวฟ เข้าที่ไฟแรง ประมาณ 1-2 นาทีจนเดือน นำออกมาคนให้เข้ากันอีก
4. กรอกลงไปในแม่พิมพ์รูปทรงกลม

5. ทิ้งไว้ให้เย็นเซตตัวในตู้เย็นแล้วค่อยนำออกจากพิมพ์ (ระหว่างนี้ เราสามารถไปเคี่ยวน้ำเชื่อมน้ำตาลแดงรอไว้ได้เลยนะคะ)
6. เตรียมภาชนะน่ารักๆ อย่างเช่นถาดใส่ทาโกะยากิ หรือ จะไทยๆใช้ใบตองก็เก๋ไปอีกแบบนะคะ
7. จัดวางวุ้นลงไปตรงกลาง เหยาะน้ำเชื่อม (KOKUMITSU) ข้างๆ (น้ำเชื่อมสามารถปรับมาใช้ คาราเมล หรือ เคี่ยวน้ำตลาทรายแดงเองก็ได้นะคะ)
8. โรยผงแป้งถั่วเหลือง(KINAKO)ลงไป (สูตรดัดแปลงสามารถใช้อัลมอนด์บดก็ได้นะคะ) เท่านี้ก็สวยงามฟรุ้งฟริ้งอร่อยพร้อมทานแล้วจ้า
ทำเสร็จแล้วก็รีบกินเลยนะจ๊ะ เพราะหยดน้ำนี้จะอยู่คงรูปแค่ 30 นาทีเท่านั้น!!

ตู้ขายไอศกรีมอัตโนมัติที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในโลกโซเชี่ยล!

ครั้งแรกในญี่ปุ่น กับตู้ขายไอศกรีมอัตโนมัติจาก Baskin Robbins


ไอศกรีม Baskin Robbins ไอศกรีมชื่อดังจากสหรัฐที่ได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นไม่ใช่น้อย คนญี่ปุ่นเรียกไอศกรีม Baskin Robbins ว่า “Thirty one” ด้วยรสชาติที่มีให้เลือกเยอะ แถมยังมีเมนูพิเศษๆออกมาใหม่อยู่เรื่อยๆ จึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ไอศกรีมยี่ห้อนี้ครองใจคนญี่ปุ่นอยู่เรื่อยมา และในตอนนี้ Baskin Robbins ก็ได้ออกตู้ขายไอศกรีมอัตโนมัติของแบรนด์มาเป็นครั้งแรก ให้แฟนคลับคนรักไอศกรีมสามารถมาหยอดตู้ซื้อ Baskin Robbins ได้ตลอด ตามไปดูกันเลยดีกว่าว่าตู้ขายไอศกรีมอัตโนมัติที่ว่ามันอยู่ที่ไหนในญี่ปุ่นกัน


ข้อดีของตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติก็คือ ซื้อได้ง่าย มีจำหน่ายตลอดเวลา ยิ่งถ้าสินค้าในนั้นคือไอศกรีมขวัญใจอย่าง Baskin Robbins ก็ยิ่งฟินเข้าไปใหญ่ อยากรู้กันแล้วใช่ไหมคะว่าตู้ดังกล่าวมันอยู่ที่ไหน? อย่ารอช้าเรารีบมาเฉลยกันดีกว่า ตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติที่ว่าอยู่ที่ Kariya Highway Oasis ซึ่งอยู่ในจังหวัดไอจิ แค่เห็นหน้าตาของตู้ดังกล่าวก็รู้ได้ทันทีเลยว่าเป็นตู้ขายไอศกรีมของ Boskin Robbins ซึ่งตู้นี้มีอยู่แค่ที่นี่ที่เดียวเท่านั้นในประเทศญี่ปุ่น ณ ตอนนี้

ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคมเป็นต้นมา ก็ได้มีการนำตู้ขายไอศกรีมอัตโนมัติของ Baskin Robbins มาตั้งที่นี่ และจำหน่ายในราคาอันละ 300 เยน ไอศกรีมที่มีขายในตู้คือ รสวนิลา, รสช็อคโกมินต์, พีช & มะม่วง, popping shower, chopped chocolate, caramel ribbon, berry berry strawberry ซึ่งจะมีอยู่ 2 ตู้ด้วยกัน ในตอนนี้ถือเป็นการทดลองวางจำหน่าย จึงมีตั้งไว้แค่ที่ Kariya Highway Oasis เท่านั้น ก็หวังว่าเสียงตอบรับดีๆแบบนี้จะทำให้มีการนำไปวางให้ทั่วประเทศญี่ปุ่นเลย

วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ชูครีมกับเอแคลร์ต่างกันอย่างไร มาไขข้อข้องใจกันเถอะ



ชูครีม (Choux Cream) กับเอแคลร์ (Eclair) ชื่อเรียกขนมชนิดหนึ่งที่สร้างความสับสนงงงวยให้กับใครหลายคนเข้าใจผิดมาโดยตลอด ลองมาดูคำตอบที่แท้จริงกันดีกว่า เวลาเรียกจะได้ไม่ขายหน้า😘😘😘😘


ชูครีมกับเอแคลร์ เป็นขนมหวานจากประเทศฝรั่งเศสที่คงทำให้หลายคนสับสนไม่น้อยถึงความแตกต่างระหว่างขนมหวาน 2 ชนิดนี้ และยังมีหลายคนที่ยังเข้าใจผิดว่า ชูครีมและเอแคลร์คือขนมชนิดเดียวกัน วันนี้กระปุกดอทคอมจะมาไขข้อข้องใจถึงความแตกต่างระหว่างชูครีมกับเอแคลร์ให้กับคุณค่ะ

สำหรับเอแคลร์ (Éclair) นั้นในภาษาฝรั่งเศสหมายถึง สายฟ้า เอแคลร์เลยจะมีลักษณะยาวเหมือนกับสายฟ้า แล้วราดด้านบนด้วยช็อกโกแลต ไม่ได้สอดไส้ครีมเหมือนที่เราเข้าใจกันมาตลอด [คลิกดู วิธีทำเอแคลร์ ตำรับฝรั่งเศสแท้ ๆ 2 ไส้ 2 สไตล์ หวานละมุน]



ชูครีม (Choux Cream) และเอแคลร์ (Eclair) ล้วนแต่เป็นขนมสัญชาติฝรั่งเศสที่ทำมาจากแป้งชนิดเดียวกัน แต่สิ่งที่แตกอย่างกันอย่างเห็นได้ชัดนั่นก็คือ รูปทรง ชาวต่างชาติจะเรียกชูครีมว่า "ชูซ์ อา ลาเคร์ม" (Choux a la Crème) แปลตรงตัวก็คือ กะหล่ำปลีมีครีม ซึ่งมาจากคำว่า "ชูซ์" ในภาษาฝรั่งเศสหมายถึง กะหล่ำปี ชูครีมเลยมีรูปร่างคล้าย ๆ กะหล่ำปีทรงกลม ๆ สอดไส้ด้วยครีมต่าง ๆ ส่วนคำว่า ชูครีม ก็มาจากการรวบคำให้พูดได้ง่ายขึ้นนั่นเอง [คลิกดูวิธีทำ ชูครีม แสนสวยกับไส้ครีมแสนหวาน ลูกน้อย ๆ น่าเอ็นดู]

พอจะไขข้อข้องใจความแตกต่างระหว่างชูครีมและเอแคลร์กันไปได้บ้างแล้ว ทีนี้ก็พอจะแยกออกกันแล้วใช่ไหมคะ ซึ่งสังเกตง่าย ๆ จากรูปร่างที่ไม่เหมือนกัน คราวนี้ใครที่ต้องการกินชูครีมหรือเอแคลร์ก็จะไม่สับสนอีกต่อไป แถมยังเรียกได้อย่างถูกต้องไม่อายพนักงานด้วย